กฟผ. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ผนึกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมและปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าภาคใต้
วันนี้ (10 สิงหาคม 2563) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ ครั้งที่ 3โดยมีนายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. และ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. เป็นผู้แทนการลงนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นการนำความรู้มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าควบคู่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม
ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ม.อ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกลยุทธ์ความร่วมมือกับ กฟผ. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถงานวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของชุมชนและสังคมในพื้นที่ภาคใต้ เสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และเพิ่มพูนความรู้ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน โดยมุ่งเสริมสร้างให้ทั้งสองหน่วยงานเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ต่อไป
รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ดำเนินงานวิจัยร่วมกับ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนงานวิจัย และศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบผลิตและส่งกำลังไฟฟ้าของ กฟผ. เช่น การพัฒนาระบบการเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าจากสายส่งเพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่ระบบมอนิเตอร์สายส่ง การพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับมอนิตอร์หม้อแปลงและสถานีไฟฟ้าแรงสูงเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ ม.อ. ตั้งแต่ปี 2551 รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ อาทิ การวิจัยและพัฒนาระบบประชุมสัญญานทางไกลด้วยมัลติมีเดียผ่านเว็บสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูง โครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าพื้นที่นำร่อง จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส รวมถึงสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอน และการเข้าดูงานและฝึกงานในโรงไฟฟ้า และสถานที่ต่าง ๆ ของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความรู้เชิงประจักษ์ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ของ ม.อ. อีกด้วย