ผลประกอบการไตรมาสแรกกลุ่มบางจากฯ ปี 64 แข็งแกร่ง
ทำแฮททริคยอดจำหน่าย New High ทั้งตลาดน้ำมันค้าปลีก น้ำมันหล่อลื่นและอินทนิล
มุ่งมั่นรักษาโมเมนตั้ม พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนและสร้างความยั่งยืน
บางจากฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 มีรายได้รวม 41,230 ล้านบาท EBITDA 4,737 ล้านบาท มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท ยอดจำหน่ายผ่านตลาดน้ำมันค้าปลีกเดือนมีนาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 390 ล้านลิตรต่อเดือน ในขณะที่ยอดขายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปและแบรนด์กาแฟอินทนิลก็สามารถทำยอดขายสูงสุดในเดือนมีนาคมเช่นกัน สภาพคล่องแข็งแรง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนและสร้างความยั่งยืนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจากฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 41,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน มี EBITDA 4,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 2,473 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการวางแผนทยอยเก็บสำรองน้ำมันดีเซลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุนราคาน้ำมันต่ำ เพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงที่โรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุง ซึ่งมีกำไรจากการเก็บสำรองดังกล่าวกว่า 600 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจัยหนุนดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของค่าการกลั่นพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ หยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามวาระ (Major Turnaround)
แม้ปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดจะปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
อย่างไรก็ตามหลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนกลับมาเดินทางและใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกเดือนมีนาคม 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 390 ล้านลิตรต่อเดือน และกลุ่มธุรกิจการตลาดสามารถผลักดันยอดขายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปได้อย่างต่อเนื่องโดยมียอดจำหน่าย 8.9 ล้านลิตร ในเดือนมีนาคมซึ่งถือเป็นยอด New high ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปในประเทศของบริษัทฯ เพิ่มเป็นร้อยละ 11 จากร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลก็สามารถทำยอดจำหน่ายสูงสุดได้เช่นกันในเดือนมีนาคม ซึ่งร้านกาแฟอินทนิลได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเสิร์ฟกาแฟจากเมล็ดกาแฟอาราบิก้า 100% รวมทั้งกระแสของ Inthanin Cocoa Fever โกโก้ในตำนานสุดเข้มข้น ซึ่งถือว่าเป็น hero product ของอินทนิลที่มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมกราคม
โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 41,230 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน) มี EBITDA 4,737 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 286 เมื่อเทียบกับปีก่อน) และมีการบันทึกกลับรายการด้อยค่าทรัพย์สินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 400 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 808 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 149 เมื่อเทียบกับปีก่อน) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท โดยมีผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
* ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 302 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นร้อยละ 193 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากไตรมาสนี้มี Inventory Gain จำนวน 2,180 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 576 ล้านบาท หรือ 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ มีการการหยุดซ่อมบำรุงตามวาระ ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาส 1/2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 64.9 พันบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตรวม และสัดส่วนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซินลดลง
* ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading Pte. Ltd. แม้จะมีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลง แต่กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำและน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
2. กลุ่มธุรกิจการตลาด
* ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากไตรมาสนี้มี Inventory Gain ถึงแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดปรับลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยตลาดอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมการบินที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้การจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ตลาดค้าปลีกได้รับผลกระทบไม่มากนัก
* ค่าการตลาดรวมสุทธิปรับลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ B100 และผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งไตรมาส อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการบริหารจัดการการจำหน่ายในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี 2564 โดยเลือกจำหน่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางที่มีค่าการตลาดเหมาะสม จึงทำให้ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 15.9% (ตามข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งสิ้น 1,243 สถานี
* บริษัทฯ ยังคงมุ้งเน้นในการขยายธุรกิจ Non-Oil ในปีนี้ธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลครบรอบ 15 ปี และตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 มีร้านกาแฟอินทนิลจำนวน 694 สาขา
* นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก บนเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 18 สถานี ให้บริการใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ
3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า
* ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 140 ล้านบาท ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมปรับลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าใน สปป.ลาวปรับลดลง ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล (Seasonal Factor) ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่เมื่อเทียบผลการดำเนินงาน YoY ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 40% จากการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกะวัตต์) และการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ “Nam San 3B” (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 45 เมกะวัตต์) อีกทั้งปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจาก
ช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น
4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน
* ธุรกิจไบโอดีเซล กำไรขั้นต้นลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในไตรมาสนี้อยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งปริมาณการจำหน่ายที่ปรับลดลงตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาระบาดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
* ธุรกิจเอทานอล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับลดลง เนื่องจากประชาชนลดการเดินทางเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ แต่ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ปรับลดลง
5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
* ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA ลดลง โดยในไตรมาสนี้ OKEA มีรายได้ลดลง สาเหตุหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายแหล่งผลิต Draugen ลดลง ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดโลก อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 มีการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของแหล่ง Yme ในขณะที่ไตรมาสนี้ไม่มีการบันทึกรายการดัง กล่าว นอกจากนี้การรับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากไตรมาสก่อนค่อนข้างมาก
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ โดยเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสนี้เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 10 สำหรับผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับ
ปีก่อนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 103 จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ OKEA มีรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงอย่างมาก อีกทั้งมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
* ทั้งนี้ โครงการ Yme อยู่ระหว่างการเชื่อมต่อและทดสอบอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 โดยโครงการ Yme จะเพิ่มกำลังผลิตให้กับ OKEA 7,500 บาร์เรลต่อวัน โดยในปีแรกของการผลิตจะมีกำลังการผลิตที่ 4,900 บาร์เรลต่อวัน
ตลอดปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปี 2564 ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนในกลุ่มประเทศหลัก เห็นได้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีประเด็นท้าทายหลายด้าน
รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว แต่จากการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงในช่วงต้นเดือนเมษายน และแพร่กระจายเร็วไปทั่วประเทศ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และคาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ในด้านการดำเนินธุรกิจ ยังคงคุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนบนพื้นฐานของกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้เพียงพอที่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ในทุก ๆ ด้าน