กฟผ. ผ่านฉลุย โครงการ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” เตรียมเสนอรับตรา Smart City Thailand
โครงการ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” ผ่านการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการฯ มุ่งเน้น 3 Smart : Environment – Energy - Economy เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าสู่ระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ (Eco Town) โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพอากาศ สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนหลังการปิดเหมืองแม่เมาะ เตรียมเสนอขอรับตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand จากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยมี ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มโครงการพิเศษและผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม (DEPA : Digital Economy Promotion Agency) เป็นผู้นำเสนอโครงการฯ ในภาพรวม มีผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดย นายอดิศักดิ์ กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 และนายมาโนช ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ร่วมนำเสนอข้อมูลโครงการ “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” หรือ Mae Moh Smart City ผ่านการประชุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams
ดร.ภาสกร ประถมบุตร กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อน อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ให้เป็น “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ (Eco Town) เพื่อสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนของอำเภอแม่เมาะในอนาคต หลังการปิดเหมืองแม่เมาะ ให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่พัฒนาบริการระบบเมืองอัจฉริยะทั้งหมด 3 ด้าน จาก 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) และด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ
ด้าน นายมาโนช ชูชาติวรรณกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ทั้ง 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ตำบลจางเหนือ ตำบลนาสัก ตำบลบ้านดง ตำบลสบป้าด และตำบลแม่เมาะ โดยการดำเนินงานนอกจากจะเน้นส่งเสริมโครงการที่ กฟผ. แม่เมาะ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอากาศ การพัฒนาชุมชนผ่านโครงการ CSR ต่างๆ อีกทั้งยังเพิ่มการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความเหมาะสมต่อกิจกรรมในชุมชนเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ชุมชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเมืองแม่เมาะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน เช่น แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot ที่ใช้สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และจุดความร้อนที่ทำให้เกิดไฟป่า และแอปพลิเคชัน แม่เมาะ ที่ใช้สำหรับอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทั้ง 5 เมือง ประกอบด้วย แม่เมาะเมืองน่าอยู่ ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ สามย่านสมาร์ทซิตี้ และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ ระยอง เป็นพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยจะแจ้งผลอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และเข้าสู่พิธีการรับตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand ต่อไป