กฟผ. หนุนรัฐรับมือโควิด-19 หลังสงกรานต์ ให้พนักงาน WFH ลดความเสี่ยง ร่วมรักษาตัวเพื่อรักษาหน้าที่
กฟผ. ให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยหลังเทศกาลสงกรานต์ ร่วมรักษาตัวให้ปลอดภัยเพื่อรักษาหน้าที่ ช่วยรัฐลดเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ยืนยันไม่กระทบต่อการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชน พร้อมชวนคนไทยทุกวงการการ์ดอย่าตกและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
นายสุทธิชัย จูประเสริฐพร รองผู้ว่าการบริหาร ในฐานะประธานศูนย์จัดการภาวะวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้พนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยในทุกงานที่ทำได้ตามมาตรการที่ กฟผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายและรับเชื้อโควิด-19 รวมถึงผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ให้ปฏิบัติงานจากที่พักอาศัยได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับมาในพื้นที่สำนักงานประจำ หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง ชุมชนแออัด สถานบันเทิง การเดินทางโดยรถสาธารณะ เพื่อร่วมรักษาตัวให้ปลอดภัยและไม่กระทบกับหน้าที่ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนอย่างแน่นอน พร้อมชวนคนไทยทุกวงการการ์ดอย่าตก สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19
สำหรับมาตรการด้านการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้า กฟผ. ได้กำหนดให้พื้นที่ภายในโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ควบคุม (Safe zone) ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกโดยเด็ดขาด และให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งหมดกักตัวอยู่ในเซฟโซนตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสำรอง และเตรียมพร้อมให้ผู้บริหารและพนักงาน กฟผ. ที่เคยปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการควบคุมและสั่งการระบบไฟฟ้าเข้ามาร่วมเสริมทีม
ส่วนโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งในงานเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้คัดเลือกพนักงานที่มีทักษะหลากหลายในสาขาไฟฟ้า เครื่องกล และความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากเกิดกรณีพนักงานไม่เพียงพอจะดำเนินมาตรการขยายเวลาการทำงานจากกะละ 8 ชั่วโมง เป็น 12 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์พิเศษ อะไหล่ คู่มือที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนรายชื่อร้านค้า หรือบริษัทที่ต้องส่งเครื่องมืออุปกรณ์ในการเดินเครื่องและบำรุงรักษาในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ ในส่วนบ้านพักรับรองที่เปิดให้บริการประชาชนภายในเขื่อนต่าง ๆ ของ กฟผ. ให้ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละจังหวัด โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ของเขื่อนต่าง ๆ