สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 2 เดือนของปี 2564 (มกราคม - กุมภาพันธ์)
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 2 เดือนของปี 2564 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.7 โดยกลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 6.7 กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 3.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงร้อยละ 79.8 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 9.9 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และ NGV ลดลงร้อยละ 42.0 เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้ในเดือนมกราคม 2564 ต่ำกว่าปกติ
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 6.7) โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน (ลดลงร้อยละ 11.8) สำหรับกลุ่มแก๊สโซฮอล์ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 28.9 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 6.6) เมื่อพิจารณาแยกชนิดน้ำมัน พบว่า แก๊สโซฮอล์ อี85 ปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุดโดยลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 39.4) รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 ปริมาณการใช้อยู่ที่ 7.2 ล้านลิตร/วัน (ลดลงร้อยละ 20.5) และแก๊สโซฮอล์ อี 20
ปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.0 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 10.2) ขณะที่แก๊สโซฮอล์ 95 ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.0 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8) ความต้องการใช้กลุ่มเบนซินที่ลดลงเป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมพื้นที่ในเดือนมกราคม 2564
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 65.2 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 3.7) เช่นเดียวกับกลุ่มเบนซินที่ปริมาณการใช้ในเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 มีปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 39.2 ล้านลิตร/วัน (ลดลงร้อยละ 26.6) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมา
อยู่ที่ 22.9 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.0 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 79.8) เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและการโดยสารเครื่องบินได้รับผลกระทบหนักอย่างต่อเนื่อง
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.0 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3) โดยปริมาณการใช้ในภาคปิโตรเคมีมีการใช้มากที่สุดอยู่ที่ 6.5 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5) เนื่องจากการขยาย Line ผลิตปิโตรเคมี ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีการใช้อยู่ที่ 1.9 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5) ขณะที่ภาคขนส่งมีการใช้ลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 1.8 ล้านกก./วัน (ลดลง ร้อยละ 30.9) รองลงมาเป็นภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.8 ล้านกก./วัน (ลดลงร้อยละ 1.2)
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 42.0) โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ยังคงลดลง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 915,751 บาร์เรล/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลงร้อยละ 4.6) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 890,885 บาร์เรล/วัน (ลดลงร้อยละ 3.3) ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงมาอยู่ที่ 45,598 ล้านบาท/เดือน (ลดลงร้อยละ 23.1) เนื่องจากปริมาณนำเข้าและราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐานน้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) ลดลงมาอยู่ที่ 24,866 บาร์เรล/วัน (ลดลงร้อยละ 36.2) คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมอยู่ที่ 1,428 ล้านบาท/เดือน (ลดลงร้อยละ 37.1)
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 175,871 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 9,799 ล้านบาท/เดือน (ลดลงร้อยละ 12.8)
ธพ.กบส. 25 มี.ค. 64