กฟผ. รุดแจงคนแม่เมาะให้คลายกังวล พร้อมเดินหน้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนฯ รักษาความมั่นคงตามแผน PDP
กฟผ. ชี้แจงชาว อ.แม่เมาะ ให้คลายกังวล กรณีข่าวลือปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ย้ำยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 8-9 ตามแผน PDP เพื่อความมั่นคงและรักษาสมดุลค่าไฟฟ้า พร้อมขอบคุณที่เห็นความสำคัญ
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 นายพัฒนพงศ์ ขันทา ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เข้ามอบหนังสือชี้แจงของ กฟผ. ต่อนายถนอม กุลพินิจมาลา กำนันตำบลสบป้าด ในฐานะประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่เมาะ และนายสมมุติ หาลือ ตัวแทนภาคประชาชน อ.แม่เมาะ กรณีที่ตัวแทนภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน เพื่อขอคัดค้านการเสนอให้สั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะบางหน่วย ในปี 2572 เพื่อลดกำลังการผลิตและซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศทดแทน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภายในหนังสือชี้แจงระบุว่า กฟผ. ขอขอบคุณชุมชนที่ร่วมแสดงความเห็นต่อการดำเนินการของ กฟผ.แม่เมาะ โดยปัจจุบัน กฟผ. ยังคงดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่กำหนดให้ปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะบางหน่วยผลิตออกจากระบบตามความเสื่อมสภาพและอายุการใช้งานที่มากว่า 30 ปี ดังนั้น เพื่อให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอในการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคเหนือ จึงกำหนดให้มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ และมีแผนจ่ายไฟเข้าสู่ระบบในปี 2569 ซึ่งจะสอดคล้องกับปริมาณถ่านหินลิกไนต์ที่เหลืออยู่เพียงพอสำหรับผลิตไฟฟ้าได้อีก 25 ปี
ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ทั้งนี้ หลังจากรายงาน EHIA ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. แล้ว จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นอีก 1 ครั้ง ประมาณกลางปี 2564 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนนำข้อคิดเห็นเพิ่มเติมไปประกอบรายงานฯ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป
อนึ่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความสำคัญต่อประเทศทั้งในด้านการเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด ช่วยรักษาสมดุลค่าไฟฟ้าของประเทศ และยังช่วยด้านการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ลำปาง ได้เป็นอย่างดี อีกทั้ง กฟผ.ยังได้ร่วมกับทุกภาคส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ให้สอดคล้องตามสถานการณ์ด้านพลังงาน และสอดรับกับแนวโน้มของโลกที่เน้นพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติโครงการ กฟผ. มีความพร้อมในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ทันที