สนพ.เผยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดมีผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ของโจ ไบเดน และซาอุดีอาระเบียอาสาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะได้รับการอนุมัติภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากการอาสาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน นอกเหนือจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 รวมไปถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงในลิเบีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยจากแรงกดดันของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์และขยายเวลาเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเต็มขั้น รวมทั้งยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 57.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 55.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.15 เหรียญต่อบาร์เรลและ 2.86 เหรียญต่อบาร์เรลตามลำดับ โดยที่กลุ่มโอเปกสามารถปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ตามข้อตกลงในเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ระดับ 103% นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังเริ่มปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา และจะปรับลดต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม
สำหรับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง (ณ วันที่ 29 มกราคม) ปรับลดลง 1.0 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล ส่วนที่จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา (ณ วันที่ 29 มกราคม) ปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล โดยนักวิเคราะห์คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะยังคงลดต่อเนื่องอีก 2.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์นี้
ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย
ราคาน้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $63.58, $62.25 และ $63.67 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $2.66, $2.47 และ $2.50 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
• ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างไรก็ตามราคายังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ญี่ปุ่นและเวียดนามมีการประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติม
• Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 30 ม.ค. 64 ลดลง 0.55 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10.18 ล้านบาร์เรล
• Platts คาดการณ์ว่าโรงกลั่นน้ำมันในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะมีแผนปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากการส่งออกของจีน ซึ่งคาดว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 64 จะเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล
อยู่ที่ 15.0 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $63.47 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $3.03 ต่อบาร์เรล
• ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ณ สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.พ. 64 แตะระดับ14.15 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นระดับต่ำในรอบ 6 เดือน
• อุปทานในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมถึงการส่งออกไปยังทางด้านตะวันตกที่เพิ่มมากขึ้น โดยที่ปริมาณน้ำมันดีเซลส่งออกจากประเทศจีนคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ.
ค่าเงินบาทของไทย อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.01 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 30.1793 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.51 บาท/ลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.58 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.38 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ 0.71 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.62 บาท/ลิตร
ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 7 ก.พ. 64 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 59,269 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 33,749 ล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 25,520 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 35,589 ล้านบาท และบัญชี LPG -10,069 ล้านบาท