เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ณ พื้นที่อาคารจอดรถ 3 ชั้น สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยมี นายนพดล ดำวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบริการและคุณภาพไฟฟ้า เป็นผู้แทน MEA และนายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมทดลองการใช้งาน ณ สถานีอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งนี้สถานีชาร์จแห่งใหม่นี้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานสะอาด สอดรับกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืนของคนกรุงเทพฯ
MEA มุ่งมั่นสนับสนุนนโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศ พร้อมยกระดับการบริการด้านพลังงานไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กรที่มุ่งสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งนี้ MEA ได้ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ให้ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองการเดินทางของผู้ใช้งานรถไฟฟ้า MRT และผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียง โดย MEA ได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าบริการครอบคลุมพื้นที่สถานีจอดรถในหลายจุดของโครงการรถไฟฟ้า ได้แก่
ลานจอดรถ สถานีสามย่าน (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)
อาคารจอดรถ สถานีคลองบางไผ่ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)
อาคารจอดรถ สถานีแยก คปอ. (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต)
อาคารจอดรถ สถานีสามแยกบางใหญ่ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)
อาคารจอดรถ สถานีลาดพร้าว (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)
อาคารจอดรถ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล)
อาคารจอดรถ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ (โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม)
ทั้งนี้ สถานีอัดประจุไฟฟ้า MEA EV ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน EV ในการเข้าถึงจุดชาร์จที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม MEA ยังคงมุ่งมั่นขยายสถานีชาร์จ EV ให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษในเขตเมือง พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน และสังคมในอนาคต
#สถานีอัดประจุไฟฟ้า #MEAEV #รฟม #MRT
#MEA #การไฟฟ้านครหลวง
#พลังงานเพื่อวิถีชัวิตเมืองมหานคร