นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 อยู่ที่ 152.30 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.9 และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ขณะที่น้ำมันเตา น้ำมันกลุ่มดีเซลและ NGV มีการใช้ลดลงร้อยละ 15.8 ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.97 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.88 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.89 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 0.46 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2566 รัฐบาลได้มีการประกาศนโยบายปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลงทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน โดยแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาท/ลิตร เบนซินและแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลง 80 สตางค์/ลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันกลุ่มเบนซิน และการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.91 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7 โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 0.77 ล้านลิตร/วัน 0.15 ล้านลิตร/วัน และ 3.58 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 เฉลี่ยอยู่ที่ 64.41 ล้านลิตร/วัน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปชดเชยเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.50 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.9 เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศจีนและคาซัคสถาน รวมระยะเวลา 5 เดือน (กันยายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567) และประเทศอินเดียและไต้หวันรวมระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.60 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.6 โดยการใช้ภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 อยู่ที่ 2.27 ล้าน กก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 อยู่ที่ 7.60 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.05 เฉลี่ยที่ 5.74 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.6 มาอยู่ที่ 2.00 ล้านกก./วัน
การใช้ NGV เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.31 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ ปตท. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน โดยร่วมอุดหนุนกลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 จนถึงสิ้นปี 256
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,033,556 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 96,107 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 962,192 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 90,754 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 71,364 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 8.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,354 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – ธันวาคม 2566 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล
น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 183,304 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 19,199 ล้านบาท/เดือน