“สุพัฒนพงษ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการจ.ระยอง เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ซึ่งเป็นตัวอย่างโครงการที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมหน่วยงานภาคีและภาคชุมชน ช่วยลดทั้งมลพิษและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับชุมชน
วันนี้ (24 ส.ค.63) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระยอง เยี่ยมชมและรับฟังความก้าวหน้าโครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นโครงการเปลี่ยนของเสียที่ได้จากมูลสุกรให้เป็นพลังงาน ถือเป็นโครงการที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาคีและภาคชุมชนเข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้ในกระบวนการคิดวางแผน การประชาคม การก่อสร้าง รวมถึงการร่วมทุน ซึ่งการดำเนินโครงการฯ เป็นแนวทางที่สอดคลัองกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เกิดการพัฒนาการจ้างงานกระจายสู่ท้องถิ่น
“โครงการพัฒนาพลังงานชุมชนด้วยระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในชุมชน เกิดการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมแบบยั่งยืน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมจัดทำการวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ของพลังงานอย่างครบวงจรในระดับชุมชน อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economic) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ ทั้งในชุมชนและสังคม และทั้งในภาครัฐ และเอกชน เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ถือเป็นโครงการตัวอย่างที่ควรนำไปขยายผลให้ชุมชนโดยรอบต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
โครงการฯ เป็นความร่วม 4 ฝ่ายประกอบด้วย เจ้าของฟาร์มสุกร ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพ สถาบันวิทยสิริเมธี ช่วยสนับสนุนการบริหารโครงการ งานวิจัย งานวิชาการ และการจัดการความเสี่ยง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ถ่ายทอดความรู้การก่อสร้างระบบส่งจ่ายก๊าซชีวภาพ และร่วมวางระบบการบริหารจัดการ และองค์การบริหารส่วนตำบลป่ายุบใน ที่สร้างกระบวนการชุมชนตั้งแต่สื่อความ การจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ก๊าซชีวภาพ การจัดประชาคมหมู่บ้าน และรับสมัครครัวเรือนเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสร้างกระบวนการให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเอง และดูแลรักษาระบบได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน
โครงการมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพได้ 800 ลูกบาศก์เมตรจากมูลสุกร 4,500 ตัว ซึ่งปัจจุบันภาพรวมด้านวิศวกรรมโครงการงานก่อสร้างระบบใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งจ่ายก๊าซชีวภาพให้แก่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือนกันยายน 2563 โดยชาวบ้านในชุมชนประมาณ 60 ครัวเรือนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานหุงต้มในชุมชนได้ประมาณ 265,000 บาท/ปี ฟาร์มสามารถลดค่าไฟได้ 780,000 บาท/ปี และในภาพรวมยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,350 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี ลดมลภาวะทางกลิ่นจากฟาร์ม ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน