กระทรวงพลังงานรุกเศรษฐกิจระดับชุมชน ชมผลสำเร็จ “ลดใช้พลังงาน-เพิ่มรายได้” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงใหม่
กระทรวงพลังงานลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการบริหารจัดการด้านพลังงานที่นำมาช่วย เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้า ที่วัดผลสำเร็จเป็นตัวเลขได้ทั้งการช่วยลดใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้แต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใน จ.เชียงใหม่
นายชำนาญ กายประสิทธ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ นำคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและสื่อมวลชนเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีกระบวนการผลิตและบริหารจัดการด้านพลังงานที่ครบวงจร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ช่วยลดการใช้พลังงาน และลดต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มวิสาหกิจ โดยได้เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตแคบหมูโบราณบ้านแม่กะ ต.แม่แตง อ.แม่แตง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรไร่แฝกใหม่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย
สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตแคบหมูโบราณบ้านแม่กะ ต.แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบล และวิสาหกิจชุมชน (SMEs) สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ปีงบประมาณ 2560 โดยมีการส่งเสริม เตามณฑล หรือเตาประหยัดพลังงานแบบ 2 กระทะ ทดแทนเตาแบบเดิม ด้วยงบประมาณ 35,950 บาท สามารถลดรายจ่ายและผลิตสินค้าได้มากขึ้น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟืนลดลง 70% หรือ 672 กก./เดือน ช่วยร่นระยะเวลาในการผลิต และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลง 40,320 บาท/ปี
ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ยังได้สนับสนุนตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกขนาด 2 x 2 เมตร เพิ่มเติมด้วยงบประมาณปี 2563 จำนวน 21,000 บาท เพื่อให้การตากหนังหมู ถูกสุขลักษณะ ไม่มีปัญหาฝุ่นละออง แมลง และความชื้น ทำให้เพิ่มคุณภาพสินค้า เพิ่มจำนวนรอบการผลิตได้มากขึ้น ลดการสูญเสียในขั้นตอนการผลิต ลดต้นทุนด้านพลังงานโดยลดระยะเวลาในการใช้แก๊สหุงต้ม ในการรวนหนังหมูลง และสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ประมาณ 500 บาทต่อเดือน หรือ 6,000 บาทต่อปี
ประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากรอบการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความเสียหายของผลิตภัณฑ์ที่ลดลงกว่า 80% ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2,000 บาท หรือปีละ 24,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำไร่แม่แฝกใหม่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัดได้สนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเรือนกระจก ขนาด 3 x 4 เมตร ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 91,000 บาท
โดยสามารถเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลา เพิ่มจำนวนรอบการผลิตได้มากขึ้น ลดการสูญเสียขั้นตอนการผลิตทำให้การตากปลาใช้ระยะเวลาลดลงประมาณ 50%จากการตาก 2 วันเหลือ 1 วัน หรือจากตาก 1 วันเหลือแค่ครึ่งวันแล้วแต่ชนิดของปลา ประมาณการรายได้เพิ่มขึ้นจากรอบการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความเสียหายของผลิตภัณฑ์ที่ลดลงกว่า 80% ทำให้มีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 28,000 บาท ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มฯ ได้ต่อยอดสร้างโรงชำแหละขึ้น และอยู่ระหว่างการประเมินเพื่อรับมาตรฐาน อย.