สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคตครั้งที่ 2 พร้อมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ในปัจจุบัน
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity ในระหว่างวันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
โดยมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, คุณเกษณภา มหารัตนวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผศ.น.สพ.ดร.เสรี กุญแจนาค รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ได้เเก่ บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย, บริษัทกรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), สำนักงานสภานโยบายวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (สอวช.), การไฟฟ้านครหลวง, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด เข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี รวมถึงกรมการขนส่งทางบกที่ได้ให้ความสนับสนุน ให้ข้อมูลกับทีมผู้เข้าแข่งขันด้านการรับรองแบบและการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อให้ครอบคลุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
โดยการแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น 57 ทีม แบ่งเป็นทีมประเภทสถาบันการศึกษา 48 ทีม และเป็นทีมประเภทบุคคลทั่วไป 9 ทีม ซึ่งผลการแข่งขันฯ ประเภทกลุ่มสถาบันการศึกษา รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม S11 uttc auto team จากวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ ได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม S57 UTK-EV Conversion จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม S48 ขุนพล Ev bike จากวิทยาลัยการอาชีพขุนพล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
ส่วนประเภทกลุ่มประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม G02 Black Maeta ได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม G07 T2D ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท เเละรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม G05 Moto bike ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลนวัตกรรมสำหรับทีมที่พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นการเฉพาะและสามารถพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ เช่น แบตเตอรี่ขับเคลื่อนแบบถอดสลับได้ (Swappable Battery) มอเตอร์ขับเคลื่อน/ระบบควบคุม (Motor and Controller) รวมถึงเครื่องอัดประจุ (On-board Charger) และตัวถัง/สวิงอาร์ม Swing Arm (Body and Swing Arm) ซึ่งผู้ชนะในรางวัลนวัตกรรม ได้เเก่ ทีม S57 UTK-EV Conversion จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
ในการเเข่งขันครั้งนี้ มีการเก็บคะแนนเป็นระบบ Checkpoint ต่างๆ ก่อนเข้าสู่สนามแข่งขัน จำนวนทั้งหมด 4 Checkpoint เพื่อให้แต่ละทีมนำส่งรายงานการออกแบบ รายงานการทดสอบด้านเทคนิค ฯลฯ เพื่อเก็บคะแนนก่อนเริ่มการแข่งขันภาคสนามวันที่ 19 พค. ซึ่งเป็นวันแรกของการแข่งขัน โดยเเบ่งออกเป็น 4 สถานีหลัก ได้เเก่ สถานีทดสอบอัตราเร่ง สถานีทดสอบอัตราเร่งและวัดอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน สถานีทดสอบขึ้นทางลาดชันและวัดอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน และสถานีทดสอบระยะการเบรค ส่วนการแข่งขันในวันที่ 20-21 พค. เป็นการทดสอบวิ่งรอบสนามแข่งขันรอบใหญ่ระยะทาง 2.4 กม. ต่อรอบ ผ่านสถานีต่างๆ เช่นสถานี Slalom และสถานีลูกระนาด จากนั้นจึงทำการวัดค่าพลังงานที่ใช้ไป และนำคะแนนมาคำนวณร่วมกับคะแนนที่ได้จากการนำเสนอแผนงานทางธุรกิจและต้นทุนการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อคัดเลือกหาทีมที่ได้คะแนนดีที่สุดตามลำดับ
คุณเกษณภา มหารัตนวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า “กฟผ. ได้สนับสนุนกิจกรรมการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจเเห่ง อนาคต ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยเล็งเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์ ต่อเยาวชน และประชาชนทั่วไป ในการตระหนัก รับรู้ ถึงปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินภารกิจผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานสะอาด และส่งเสริมการลดมลภาวะทางอากาศ โดยสนับสนุนให้เกิดโครงการ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ในหลายโครงการ อาทิ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2559 ส่งเสริมระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของประเทศ สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้ดำเนินการติดฉลากเบอร์ 5 ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 20 ราย ติดฉลากไปแล้วกว่า 35,000 ดวง
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 แบรนด์ ENGY สำหรับใช้ในกิจการของ กฟผ. กว่า 50 คัน พร้อมขยายผลไปสู่การนำร่องใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะรวมกว่า 100 คัน พร้อมสถานี Swapping Battery Station กว่า 10 สถานี ในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นการสนับสนุนการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มีสมรรถนะการใช้งานและมีประสิทธิภาพพลังงานที่ดี มีความปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพการดัดแปลงและซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้กับคนไทย เพื่อขยายผลรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อีกทางหนึ่ง”
ผศ.น.สพ.ดร.เสรี กุญแจนาค รองอธิการบดีวิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรและเป็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ลดปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมส่งทีมนิสิตเข้าแข่งขันในครั้งนี้ด้วยจำนวนสองทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา ซึ่งสอดรับกับมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ (อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อย่างมีส่วนร่วมภายในปี 2035 นอกจากการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว มหาวิทยาลัยยังให้การสนับสนุนการบริการทดสอบอุปกรณ์หลักของยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัย เช่น การทดสอบแบตเตอรี่แพค การทดสอบสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย ดังนั้นหากประชาชนและผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทางเราก็มีความยินดี
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เเต่สิ่งที่ต้องผลักดันส่งเสริมให้รองรับกับจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คือการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และลงมือทำเพื่อพัฒนาความสามารถทางด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตด้านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก และจากการรวบรวมสถิติของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พบว่า ณ เดือนเมษายน 2566 ในประเทศไทยมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมทุกประเภทกว่า 58,232 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 32,000 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 23,000 คัน และยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถโดยสาร รถสามล้อ และอื่นๆอีกกว่า 3,000 คัน ดังนั้นผมเองในนามสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จึงขอแสดงความขอบคุณมายังผู้สนับสนุนการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคตในทุกภาคส่วน ที่ร่วมมือกันสร้างโอกาสให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต”
เกี่ยวกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand)
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 400 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุมในทุก ๆเดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน