บ้านปู เสริมแกร่งธุรกิจอีโมบิลิตี้และแบตเตอรี่เต็มสูบ ไตรมาส 1 ยังคงสร้างกระแสเงินสดดีต่อเนื่อง แม้ราคาพลังงานโลกผันผวน เดินหน้าสร้างการเติบโตในธุรกิจอีโมบิลิตี้และแบตเตอรี่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเสริมแกร่งอีโคซิสเต็มของบ้านปู พร้อมรับมือความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก บนความยืดหยุ่น คล่องตัว โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนอย่างรอบคอบ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้จากการขายรวม 1,312 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 44,489 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 56 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,989 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 467 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 15,837 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 22 จากปีก่อน โดยบริษัทฯ ยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดี อันเป็นผลจากความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์และโครงการต่างๆ ให้ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง บนความยืดหยุ่น คล่องตัว ท่ามกลางความผันผวนของราคาพลังงาน ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในไตรมาสนี้ บ้านปูรุกคืบกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ทั้งการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นดูราเพาเวอร์ (Durapower) เป็นร้อยละ 65.1 และการลงทุนในโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่อิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) โดยมีกำลังการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารวม 58 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งโครงการนี้เราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในบริษัทบริการเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
การขยายการเติบโตทั้งธุรกิจกักเก็บพลังงาน และธุรกิจอีโมบิลิตี้ ที่ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของบ้านปูในครั้งนี้ จะช่วยเสริมแกร่งอีโคซิสเต็มของบ้านปูในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก และเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นการเติบโตที่ต่อเนื่องและการขยายห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจของบริษัทเรือธง บ้านปู เน็กซ์ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบ้านปูได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว”
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2566 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจเหมือง ยังคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ดำเนินมาตรการเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพื่อคงความสามารถในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง มีการควบคุมต้นทุน การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ผันผวน อันเนื่องจากสภาพอากาศในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้หนาวรุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน ยังคงรักษาประสิทธิภาพการผลิตได้ดีตามแผน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าเอชพีซี ในสปป.ลาว สามารถมีค่าความพร้อมจ่าย EAF ที่สูงถึง 96% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีน สามารถสร้างกำไรแม้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีผลประกอบการที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และมีค่าความเข้มของแสงที่สูง

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยขยายธุรกิจโซลาร์หลังคา และโซลาร์ลอยน้ำในหลากหลายประเทศในทวีปเอเชียแปซิฟิก รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 217 เมกะวัตต์ ขยายธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน ในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 58 เมกกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Durapower จากร้อยละ 47.7 เป็นร้อยละ 65.1 และลงทุนใน Green Li-on ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไปจนถึงการลงทุนภายใต้ธุรกิจ e-Mobility ในโอยิกะ (Oyika) ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งมีบริการครอบคลุมหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.png)
“ปี 2566 เป็นปีที่บ้านปูก้าวสู่ปีที่ 40 เรายังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศธุรกิจของบ้านปู โดยยึดมั่นในหลักการ ESG ในทุกการดำเนินงาน เรามุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจที่รองรับอัตราการเติบโตที่สูงในระยะยาว สร้างทั้งคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและที่สำคัญคือมีส่วนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทุกคนตามที่เราตั้งใจไว้” นางสมฤดี กล่าว
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.banpu.com และ
https://www.facebook.com/Banpuofficialth