มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ กฟผ. ลุยปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมในจังหวัดขอนแก่น นำร่องปลูกต้นกาลพฤกษ์ 160 ต้น รอบพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินหน้าสู่ต้นแบบพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืนในสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม พร้อมหนุนวิจัยเทคโนโลยีด้านการเกษตรและป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ สานต่อองค์ความรู้สู่ชุมชน
วันนี้ (12 ตุลาคม 2565) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะผู้บริหารและนักศึกษาร่วมกิจกรรม Kick Off ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการปลูกต้นกาลพฤกษ์จำนวน 160 ต้น รอบรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับ กฟผ. ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม สอดรับกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเกษตรและป่าไม้ยั่งยืนในสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม โดยปลูกป่าร่วมกับพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและป่าไม้เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการผลิตและอนุบาลกล้าไม้อย่างมีประสิทธิภาพสู่ชุมชนต่อไป
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมปลูกป่าร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของทั้งสองหน่วยงานที่จะร่วมกันเดินหน้าปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกและบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน
โดยโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. มีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน เพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และคาดว่าตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อร่วมผลักดันนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศให้สำเร็จภายในปี ค.ศ. 2050