“ดอยคำ” จัดกิจกรรม นำเยาวชน พร้อมชาวบ้านร่วมทำฝายชะลอน้ำ ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จ.เชียงใหม่ สร้างจิตสำนึกนักจิตอาสา ทำประโยชน์ให้ชุมชน ยั่งยืน
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการจัดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่งเสริมให้นักเรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และท้องถิ่นตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสา เพื่อสังคมของเยาวชนไทยให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละต่อสังคม และมีจิตสาธารณะ
ดังนั้น บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ และเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (CSR on Process) ที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาทั้งชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงจัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจดอยคำ” ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่
นำเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาร่วมทำ “ฝายดอยคำ” เป็นไปตามนโยบายการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายให้เยาวชนที่มีหัวใจจิตอาสา ทำกิจกรรมเพื่อสังคม และส่วนรวม ไม่ต่ำกว่าปีละ ๓๐ ราย โดยมอบหนังสือรับรองการทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ให้เป็นการตอบแทนในความเสียสละต่อส่วนรวม
สำหรับ “ฝายดอยคำ” เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว (เป็นชื่อเรียกโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน) เป็นฝายชะลอน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ ถูกออกแบบเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำในระยะยาวได้แม้ว่าไม้ไผ่จะผุพังย่อยสบายไปแล้ว
ซึ่งฝายตามแนวพระราชดำริประเภทฝายไม้นี้ จะมีฝายอีก ๒ รูปแบบที่นิยมสร้างกันคือ ฝายไม้แนวเดียว และฝายคอกหมู โดยทั้ง 3 รูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้
ฝายไม้แนวเดียว เป็นฝายที่ทำจากไม้ สร้างโดยการปักไม้เสาเป็นระยะๆ ๐.๓๐ ถึง ๐.๕๐ เมตร แล้วนำไม้มาสอดเรียงในแนวนอนแล้วยึดติดกัน แล้วใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาถมด้านหน้าตลอดแนวซึ่งอาจเป็นดินหรือหินก็ได้เพื่อให้เกิดความมั่นคง
ฝายคอกหมู เป็นฝายลักษณะเดียวกันกับฝายไม้แนวเดียว แต่จะทำการปักไม้เสาเป็นสองแนวห่างกันเท่ากับความสูงของฝาย พร้อมมีการยึดแถวหน้ากับแถวหลังเข้าด้วยกัน ด้วยไม้ในแนวนอนที่ฝังปลายเข้าไปในตลิ่งทั้งสองด้านแล้วนำวัสดุใส่ระหว่างกลางจะเป็น หิน ดิน หรือวัสดุอื่นๆ ในพื้นที่
ฝายดอยคำ เป็นฝายที่ทำมาจากไม้ไผ่ ลักษณะเหมือนฝายคอกหมู แต่มี ๓ ชั้น ใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อน ตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำโดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำต่อไปหากไม้ไผ่ผุพังย่อยสลาย
โดยปกติโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ได้ร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานในพื้นที่ทำฝายดอยคำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งยังตั้งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม และได้เรียนรู้ประโยชน์ของการทำฝายดอยคำ
ซึ่งเป็นฝายที่ช่วยในการกักเก็บน้ำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และชาวบ้านในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทั้งยังช่วยลดความแรงของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำหากมีฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลาก ช่วยป้องกันความเสียหายแก่ชุมชนและโรงงานหลวงฯ เนื่องจากเป็นฝายชั่วคราว วัสดุที่ใช้ทำฝายเป็นวัสดุธรรมชาติ มีอายุการใช้งาน ๑-๒ ปี จึงไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เกี่ยวกับดอยคำ
จากพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น ทรงส่งเสริมการปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง สหกรณ์ชาวเขา และโรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปขึ้น (โครงการตามพระราชดำริ ดอยคำ) เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างเป็นธรรม และแปรรูปผลผลิต ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคํา” รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา โดยจัดตั้งเป็น นิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคําผลิตภัณฑ์อาหาร จํากัด” ดําเนินกิจการในรูปแบบ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ และเป็นบริษัทจดทะเบียนกิจการเพื่อสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๑