กฟผ. กับบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีการลดใช้พลังงาน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นตามเป้าหมายสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ โดยจัดทำโครงการนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “EGAT Smart Energy Solutions” ตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ลดการใช้พลังงาน ควบคุมเพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ ผ่าน ENZY Platform
EGAT ENZY Platform เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่ให้บริการกับธุรกิจและอุตสาหกรรมในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างแท้จริง แพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล และติดตามการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในปัจจุบันการนำพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนมาใช้โดยไม่มีการควบคุมอาจมีวันหมดได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะลดการใช้พลังงาน ควบคุม และลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองด้านพลังงานเพื่อช่วยธุรกิจและผู้ประกอบการบริหารการทำงานให้เกิดความยั่งยืนทั้งในมุมเป้าหมายทางธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดย EGAT ENZY Platform เริ่มใช้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 ในเขตพื้นที่ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor) สามารถควบคุมและลดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีแผนในอนาคตจะขยายไปใช้ในหลายธุรกิจเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ในอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย ตลาด ห้างสรรพสินค้า และศูนย์ราชการ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยการก้าวเข้าไปสู่การเป็นผู้รวบรวมโหลด (Load Aggregator) เพื่อลดการใช้พลังงานแบบอัตโนมัติผ่านศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center: NCC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำนวัตกรรมมาส่งเสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าได้อีกด้วย
สนับสนุนนวัตกรรมพลังงานสะอาด รองรับผ่าน Renewable Energy Certificate (REC)
จากความตื่นตัวเพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระแสการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) ในระดับประเทศสู่องค์กร REC จึงถูกนำมาใช้งานเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนขององค์กรในธุรกิจต่าง ๆ ให้มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยลดโลกร้อนได้
Renewable Energy Certificate (REC) คือใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ออกให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อรับรองการผลิตและจัดส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถขอซื้อ REC จากโรงไฟฟ้าเพื่อใช้แสดงสิทธิในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ตนเองใช้อยู่ โดย REC สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้ผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้ง่ายขึ้น สนับสนุนให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
ในปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้นเช่นเดียวกับความต้องการขาย REC ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีมากขึ้น โดย กฟผ. ได้สิทธิ์เป็นผู้รับรอง REC จาก The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพียงรายเดียวในประเทศไทย โครงการใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนนี้จะเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมูลค่าให้กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อย และมีส่วนช่วยในด้านต่าง ๆ ดังนี้
สำหรับกระบวนการซื้อขาย REC ผู้ซื้อแจ้งความต้องการขอซื้อ REC จากผู้ผลิตไฟฟ้า จากนั้นผู้ขายขึ้นทะเบียนโครงการและขอการรับรอง REC ตามมาตรฐาน I-REC ถัดมา ผู้รับรองส่งมอบใบรับรอง REC ให้ผู้ซื้อและผู้ซื้อชำระเงินค่า REC ให้กับผู้ขาย
โดยหน่วยการซื้อขาย REC คำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้จริง คือ ไฟฟ้า 1 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) มีค่าเท่ากับ 1 REC โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ลงทะเบียนกับมาตรฐาน I-REC แล้วทั่วโลกจำนวนกว่า 99,000 MWp (เมกะวัตต์พีค) และมีโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 226 แห่ง
ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ REC สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://irecissuer.egat.co.th/
#พลังงานหมุนเวียนREC #REC #EnzyEGAT #EnzyPlatform #กฟผ #EGAT #EGATforAL