“LOLE” เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ...เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ลดต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) จึงทำให้ระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจจะทำให้มีผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและการวางแผนการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยที่ว่า ระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น ควรจะเป็นเท่าใด และการใช้เกณฑ์ Reserve Margin ยังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ วันนี้เรามาหาคำตอบกัน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดเกณฑ์ที่ใช้วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เรียกว่า “เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” หรือ Reserve Margin เพื่อให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) รวมถึงสามารถรับมือกับเหตุการขัดข้องที่ไม่ได้คาดหมาย แต่เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบให้ใช้ ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) แทนเกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin ) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มมากขึ้นในอนาคต และเพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น
LOLE เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็น (Probabilistic Planning) โดยค่า LOLE นั้นคือ ค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี ซึ่งจะคำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี โดยจะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก วิธีการตามแนวทาง LOLE ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น
อย่างไรก็ตาม การกำหนดเกณฑ์ความมั่นคงในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระบบไฟฟ้าและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยอดีตประเทศไทยเคยมีการกำหนดเกณฑ์ LOLE ไว้ในการจัดทำแผน PDP 3 ฉบับ ได้แก่ แผน PDP2001 แผน PDP2004 และแผน PDP2007 โดยได้กำหนด LOLE ไว้ที่ไม่เกิน 1 วันต่อปี และใช้ร่วมกับเกณฑ์ Reserve Margin ที่ไม่ต่ำกว่า 15%
สำหรับข้อดี ของ LOLE ที่ประเทศไทยจะนำมาใช้นั้น มีการพิจารณาความมั่นคงของระบบที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงเวลา คำนึงถึงสมรรถนะการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และลักษณะของความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Profile) โดยจะสะท้อนถึงคุณลักษณะของระบบตลอดทุกช่วงเวลา ซึ่งจากสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จึงมีการพิจารณาทบทวนเกณฑ์ LOLE ที่เหมาะสม ทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะมีความต้องการระดับความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี การพิจารณาทบทวนเกณฑ์ LOLE ที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการวางแผน PDP ฉบับใหม่ จะช่วยให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง มีความสอดคล้องกับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงรองรับการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน เชื่อว่า เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ หรือ “LOLE” นี้ จะสามารถสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทยได้อย่างแน่นอน